รู้จักกับปิ้กอัพ EMG

EMG ก่อตั้งขึ้นในปี 1974 โดยนาย Rob Turner เขาเริ่มต้นด้วยการใช้โรงรถของพ่อแม่เป็นโรงเวิร์กช็อพสำหรับสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และรับซ่อมแอมปลิฟายเออร์ทั่วไป Rob เริ่มสนใจการทำงานของปิ้กอัพและได้ลองเล่นปิ้กอัพมากมายในช่วงต้นปี 1969 แต่ยังไม่ได้ผลิตเป็นธุรกิจอย่างจริงจังจนกระทั่งอีกหลายปีต่อมา

ปี 1976 ช่วงแรกที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ Rob ได้จดทะเบียนบริษัทของเขาในนาม Dirtywork Studio จากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น Overlend ในปี 1978 (Overlend แปลว่า การกู้ยืมเกินวงเงิน) เนื่องจากเขาขอขยายวงเงินเครดิตมาถึงขั้นเต็มอัตราและคิดว่า Overlend น่าจะเป็นชื่อที่เหมาะสมที่สุด !

ปี 1983 Overlend เปลี่ยนมาเป็นบริษัท EMG ซึ่งเป็นยุคที่บริษัทประสบความสำเร็จอย่างสูง หลังจากนั้น Rob ก็ไม่เคยหันกลับไปมองอดีตอีกเลย หลายคนอาจสงสัยว่าชื่อ EMG มาจากไหน? คำตอบคือ EMG ย่อมาจากคำว่า E lectro-Magnetic Generator

 


ปิ้กอัพ " แอ็กทีฟ" ของ EMG

ปิ้กอัพ แอ็กทีฟ คืออะไร? มันก็คือปิ้กอัพที่เราต้องใช้ไฟฟ้าช่วยในการปรับปรุงคุณภาพเสียงเครื่องดนตรีของเราให้ดีขึ้น ซึ่งมีหลายวิธีที่เราสามารถ "กร" ปิ้กอัพของเราให้มีพลังแรงขึ้นได้ วิธีง่ายๆอันแรกก็คือใช้ "ปรีแอมป์" ช่วยขยายสัญญาณยังไงล่ะ ซึ่งวิธีนี้มันไม่ได้ไปขยายเฉพาะแต่สัญญาณกีตาร์ของเราเท่านั้น แต่จะไปขยายเอาทั้งสัญญาณเสียงนอยส์ เสียงรกต่างๆเข้าไปด้วย และด้วยเหตุนี้เอง จึงได้มีการติดตั้งระบบ "อินเทอร์นัล ปรีแอมป์" ( Internal Preamp) เป็นระบบปรีแอมป์ที่ติดตั้งไว้ภายในปิ้กอัพที่ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ปิ้กอัพมีพลังเสียงดังขึ้นแล้ว แต่จะยังไปลดเสียงนอยส์ต่างๆลงด้วย

แต่ไหนแต่ไรมา EMG ขึ้นชื่อในเรื่องของการเป็นปิ้กอัพระบบ "แอ็กทีฟ" และนาย Rob Turner ก็ได้พัฒนา "แอ็กทีฟ ปิ้กอัพ" ( Active Pickup) ตัวแรกของเขาขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ '70 ความตั้งใจแรกคือเขาอยากออกแบบปิ้กอัพ EMG ที่ให้มีน้ำเสียงดีกว่าปิ้กอัพแบบเดิมๆ จะต้องเป็นปิ้กอัพที่สามารถถ่ายทอดน้ำเสียงของเครื่องดนตรีออกมาได้ตรงธรรมชาติความเป็นจริงของเครื่องดนตรีนั้นๆมากกว่าที่ผ่านๆมา และจะต้องให้สุนทรียภาพทางดนตรีมากกว่าการเป็นแค่อุปกรณ์ไฟฟ้าชิ้นเล็กๆเท่านั้น

 คอนเซปป์สำคัญของปิ้กอัพ EMG

1. พื้นที่การรับสัญญาณจากสาย
หลักเกณฑ์ในการออกแบบปิ้กอัพ EMG นั้นความจริงมีอยู่หลายองค์ประกอบ แต่ที่สำคัญมาอันดับหนึ่งเลยก็คือเรื่องของ "พื้นที่ในการรับสัญญาณจากสาย" หรือ String Interface ถ้าคุณสังเกตที่ปิ้กอัพให้ดีจะเห็นว่าปิ้กอัพ EMG ส่วนใหญ่จะไม่มี "โพล พีส" (pole piece) หรือขั้วแม่เหล็กให้เห็น (จะยกเว้นก็แต่บางรุ่นที่ต้องการให้หน้าตาย้อนยุคเหมือนพวกปิ้กอัพ Fender แบบวินเทจโบราณ) EMG จึงหันมาใช้แม่เหล็กทั้งแท่ง ( bar magnet) แทนที่จะใช้เป็นแม่เหล็กชิ้นเล็กๆวางเรียงกัน 6 ชิ้นเหมือนเมื่อก่อนก็เพราะด้วยเหตุผลสองประการ คือ ข้อแรก ปิ้กอัพแบบมีโพลพีสจะส่งแรงดึงดูดของแม่เหล็กออกมากระทำต่อสายมากกว่า จึงเป็นเหตุให้สายกีตาร์ที่อยู่ใกล้ขั้วแม่เหล็กมากกว่าอย่างพวกสายใหญ่ๆอย่างสาย E ต่ำ, A และ D จึงมักจะเสียงผิดเพี้ยนมากกว่าเพื่อน โดยเฉพาะกับกีตาร์ Fender Stratocaster และข้อสองคือขั้วแม่เหล็กมีผลทำให้การตั้งอินโทเนชั่นและการตั้งสายกีตาร์เป็นไปได้ยากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าปิ้กอัพแบบโพลพีสจะไม่ดีไปเสียทั้งหมด ข้อดีของโพลพีสก็คือช่วยในเรื่องของ "น้ำเสียง" การดีดสายที่ออกมาคมชัด มีน้ำหนัก และมีความเป็น "เพอร์คัสสีฟ" นั่นเอง

การออกแบบ EMG ให้เป็นแม่เหล็กทั้งแท่งนั้นช่วยให้เอาต์พุตของแต่ละสายออกมามีความบาลานซ์เท่ากัน และยังช่วยให้เสียงแตกมีความนุ่มนวลขึ้น ซัสเทนยาวขึ้น และที่สำคัญคือการดันสายจะมีความไพเราะละมุนละไมขึ้น หางเสียงจะจางหายไป เนื่องจากว่าเสียงของสายจะถูกส่งผ่านเข้าที่ปิ้กอัพได้ในทุกตำแหน่งนั่นเอง ซึ่งจะต่างกับปิ้กอัพที่มีโพลพีสที่จะมีช่องว่างเว้นไว้สำหรับแต่ละขั้ว และเมื่อเราดันสายออกนอกอาณาเขตของขั้วแม่เหล็ก เสียงก็จะจางหายไป การที่แท่งแม่เหล็กส่งสนามแม่เหล็กออกมาเท่ากัน ทั่วทั้งแท่งและการไม่มีโพลพีสเช่นนี้ ทำให้ EMG เป็นปิ้กอัพที่เหมาะกับเครื่องดนตรีมีสายหลายชนิดโดยไม่เกี่ยงระยะความห่างของสายเลย

และการที่ปิ้กอัพ EMG มีการติดตั้งระบบปิ้กอัพภายในจึงทำให้ปิ้กอัพมีสัญญาณที่แรงโดยไม่ต้องใช้แม่เหล็กที่ขนาดใหญ่โตมโหฬารมาก เมื่อแม่เหล็กมีขนาดเล็ก แรงดูดก็น้อยลงตามไปด้วย ทีนี้ก็หมดปัญหาเรื่องแม่เหล็กดูดสาย ( string pull) ไปโดยปริยาย

2. แม่เหล็ก
ในปิ้กอัพ EMG มีการใช้แม่เหล็กหลายแบบซึ่งจะแต่งต่างกันไปทั้งรูปร่างและชนิด ซึ่งคุณสมบัติที่มีต่อเสียงก็จะแตกต่างกันออกไป ตามแต่คาแรกเตอร์ของตัวเอง เช่น แม่เหล็ก Ceramic อาจจะไม่ค่อยส่งผลต่อการเหนี่ยวนำของขดลวดเท่าไรแต่ก็เป็นแม่เหล็กที่ให้สนามแม่เหล็กแรง ส่วนแม่เหล็ก Alnico จะค่อนข้างให้อำนาจแม่เหล็กน้อยกว่าแต่จะมีปฏิกิริยาเหนี่ยวนำกับขดลวดมาก อะไรอย่างนี้เป็นต้น และยิ่งเมื่อมีการเสริมด้วยการใช้ขั้วเหล็ก Steel pole (ซึ่งอาจจะเป็นในรูปของแท่งเหล็กหรือสกรู) ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มการเหนี่ยวนำของปิ้กอัพได้ ซึ่งก็จะมีผลต่อซาวด์ด้วยเช่นกัน

 3. คอยล์ขดลวด
ปิ้กอัพ EMG มีการใช้ขดลวดที่ออกแบบมาหลากหลายลักษณะแตกต่างกัน ซึ่งเทคนิคการพันขดลวดและการออกแบบรูปร่างที่แตกต่างกัน ล้วนส่งผลต่อน้ำเสียงที่ออกมาทั้งสิ้น สำหรับ EMG มีทั้งปิ้กอัพที่เป็นฮัมบักกิ้งและซิงเกิลคอยล์ สำหรับฮัมบักกิ้งนั้นไม่มีปัญหาเรื่องเสียงจี่เสียงฮัมอยู่แล้ว แต่กับซิงเกิลคอยล์ที่ใครคิดว่าเรื่องจี่เรื่องฮัมเป็นเรื่องธรรมชาติแล้วล่ะก็คิดใหม่ได้ เพราะระบบปรีแอมป์ภายใจจะเป็นตัวทำหน้าที่กำจัดเสียงจี่ เสียงฮัมอันไม่พึงประสงค์ทั้งหลายแหล่ให้หมดไป

Next>>

 

    ©Copyright 2005 Beh Ngiep Seng Musical Instruments Ltd.,Part. All reserved.