TRITON LE
By พรหมพงษ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

ด้วยสมรรถนะที่เยี่ยมยอดของเวิร์คสเตชั่นที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่งคือ TRITON บวกด้วยเสียงใหม่ๆ จาก Library เดียวกับที่บรรจุไว้ใน KORG KARMAR ทำให้คีย์บอร์ดรุ่นนี้น่าจับตาอย่างที่สุด เพราะไม่ใช่แค่มันเสียงดี แต่ด้วยราคาที่ไม่แพงเมื่อวัดกับสมรรถนะ และคุณภาพเสียงแล้ว ถือว่านี่คือคีย์บอร์ดระดับอาชีพที่ถูกที่สุด

TRITON Le (light edition) คือการตัดทอนเอาส่วนที่ทำให้เครื่อง TRITON รุ่นใหญ่ออริจิแนล ราคาสูงกว่าออกไป   นั่นก็คือส่วนของภาค sampling เนื่องจากว่าแนวโน้มของปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่ soft sampling อย่าง Giga Studio หรือ EXS24 กันเป็นส่วนใหญ่ sampling ฮาร์ดแวร์เลยไม่ได้ รับความนิยม อย่างไรก็ตาม คุณยังสามารถมีภาค sampling ใน TRITON Le ได้ถ้าคุณเพิ่มเติม sampling การ์ดเข้าไป (อ๊อปชั่น) ด้วยการถอดภาคนี้ออกไป ทำให้ TRITON Le ราคาถูกลงมามาก


ตัวเครื่องของ TRITON Le ยังคงเป็นสีเงิน เหมือน TRITON รุ่นก่อนแต่ขนาดเล็กกะทัดรัด และน้ำหนัก เบาอย่างไม่น่าเชื่อ คุณสามารถหนีบไว้ในแขนข้างหนึ่ง หอบมันไปไหนต่อไหนได้ง่ายๆ ถ้าคุณหาถุงใส่ (soft case) แบบมีหูสะพายซักใบก็จะสะดวกยิ่งขึ้น แม้ว่าคุณต้องขึ้นรถเมล์ บนหน้าปัทม์ของมันก็ออกแบบมาอย่างดี มีฟังชั่นควบคุมเป็นสัดส่วน
เมื่อลองเสียบ power ซึ่งเป็น adapter แยกออกมาต่างหากแล้วเปิดเครื่องขึ้นมา  สิ่งแรกที่ทำคือหาทางฟัง demo ก่อน ลองเปิดคู่มือ (ซึ่งเขียนไว้ได้ดี, ไม่ซับซ้อน) ดู ก็พบว่า

ส่วนของ demo นั้นบันทึกไว้ใน ram ของมันซึ่ง load ขึ้นมาฟังโดยการเข้าไปที่ภาค global ก่อน แล้วกดที่ utility ก็จะพบเมนูให้เลือก “preload / demo data โหลดเสร็จก็เปิดเลย อีกครั้งที่รู้สึกผิดหวังกับ demo song ของมัน หลังๆ มานี่ Korg ทำ demo ไม่ค่อยประทับใจเลย เช่นเดียวกับ KARMA ที่เสียงจริงๆ ของมันล้วนน่าตื่นเต้น แต่ demo กลับจืดชืด แข็งกระโด๊ก พูดง่ายๆ ไม่ค่อยส่งเสริมการขาย เมื่อคุณหยุดเพลง demo แล้วเข้าไปเล่นเสียงแต่ละเสียงดู คุณจะพบว่ามันดีกว่าที่ได้ยินจาก demo ซะอีก ลองเล่นภาค combination ดู แม้ว่ามันไม่ได้มีฟังชั่นอันชาญฉลาดอย่าง KARMA แต่ภาค arpeggio ซึ่งมีอยู่ 2 ตัวใน TRITON Le นั้นก็สามารถผลิต riff และ pattern ทั้งกลองและท่อนดนตรีได้น่าสนใจ ได้เป็นอย่างดี

แต่ด้วยความที่มันย่อขนาดเล็กลงนั่นแหละที่ต้องทำให้มีข้อด้อยบ้าง อย่างแรก TRITON รุ่นก่อนจอเบ้อเริ่ม แถมยังเป็น touch screen ด้วย (ซึ่งทำให้มันแพงด้วยเหมือนกัน) เราจึงสามารถเอานิ้วจิ้มไปบนจอเพื่อสั่งงานได้เลย แต่บน Le จอเหลือจิ๊ดเดียว (ปัญหาเดียวกับ KARMA แหละ) มองยากกกก.... มาก อาจจะเป็นเพราะผมอายุมากขึ้น ตาเลยแย่ลงรึก็ไม่แน่ใจ อีกอย่างหนึ่งก็คือเอา ribbon ที่เคยมีออกไปด้วย หายมันไปเยอะเลย มาดูกันละเอียดขึ้นหน่อย

TRITON LE นั้นประกอบไปด้วยหน่วยความจำ 512 โปรแกรมซึ่งสามารถเขียนทับได้ บวกกับอีก 128 โปรแกรมมาตรฐาน และอีก 9 ชุดกลอง และอีก 24 ชุดกลองที่คุณสามารถสร้างเองได้ ในภาค combi ที่ซึ่ง คุณจะสามารถนำเสียงต่างๆ มาจัดได้ถึง 8 เสียงพร้อมกันไม่ว่าจะด้วยการ layer หรือ split ก็มีหน่วยความจำ ให้ 384 โปรแกรม

ตัวโครงสร้าง synthesis ของ TRITON Le ก็เหมือนกับพี่ใหญ่ของมันคือเป็นระบบ HI ( Hyper Integrated) ที่มี PCM samples บรรจุอยู่ใน rom ขนาด 32 MB ถึง 425 samples และเสียงกลองอีก 413 samples ทั้งหมดมีคุณภาพที่รายละเอียด 48 kHz จำนวนโน้ตที่เล่นพร้อมกันสูงสุดคือ 62 voices ดูสเปคแล้วคุณจะพบว่ามันแทบจะเหมือนกับ KARMA ใช่แล้ว! นอกจากนั้น library ของมันก็ยังใช้กันได้ด้วย ดังนั้นคุณจึงพบว่าเสียงของมันนั้นทันสมัยกว่า TRITON รุ่นก่อน

บนหน้าปัทม์ของ TRITON Le จะประกอบด้วย volume slider แผงควบคุม realtime control ซึ่งสามารถสั่งให้ใช้คำสั่งควบคุมอะไรก็ได้ 4 ปุ่ม ซึ่งสามารถสวิตช์ไปหน้าควบคุมพื้นฐานอีก 4 ค่าคือ cutoff frequencies, resonance, EG intensity, EG release และยังสวิตช์ไปควบคุมอีกหน้าที่คือภาค arpeggio ได้ด้วย

ส่วนสวิตช์ใช้งานอื่นๆ ก็จัดอยู่เป็นหมวดหมู่ เข้าใจง่ายโดยไม่ต้องอ่านคู่มือ มีกลุ่มสวิตช์ปรับค่า (value) สวิตช์เปลี่ยน bank A, B, C, D, GM และสวิตช์ภาค sequencer

เมื่อเริ่มเลือกเล่น combination โปรแกรมต่างๆ ก็เลยพลอยลืมตัวเผลอ jam ไปกับแพทเทิร์นต่างๆ ตอนนี้คุณ BOY (วรวิทย์ พิกุลทอง RPG) เข้ามาร่วมสนุกสนาน เพลินไปกว่าชั่วโมง โดยมีผมนั่งดูอยู่ข้างๆ arpeggio ของ TRITON Le นั้นยอดมากๆ เพราะคุณ BOY นั้นเล่นไม่ยอมเลิกซะที หึ! ถึงตอนนั้นคุณ โอม ชาตรี เดินเข้ามาอีกคน ขณะที่ปากบอก “เสียงดี” มือก็แย่งคุณ BOY เล่นทันที คราวนี้ผมต้องนั่งดูเฉยๆ


คุณโอมกดเปลี่ยนไปภาค program ธรรมดา ผมรีบเอื้อมมือไปกดที่ bank A โดยบอกพี่โอมแกว่าให้เล่น ตั้งแต่ bank แรก ผมจะฟังเสียงไปด้วย เลือกไป 2-3 เสียงแล้วก็เหลือบไปเห็นปุ่ม “Audition” บนหน้าปัทม์ ซึ่งตอนผมลองไม่ได้ลองกดดูเลย เพราะชอบเล่นไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจเจ้าปุ่มนี้ พอคุณโอมกดก็รู้สึกทึ่งมาก TRITON Le จะทำการเล่นท่อนดนตรีที่ถูกเตรียมไว้ว่าเหมาะกับเสียงนั้นให้ได้ยิน ทำมาดีมาก ดีกว่า demo ซะอีก แต่ละเสียงที่เปลี่ยนไปตัวดนตรี “Audition” ก็เปลี่ยนไปด้วยมากมายหลายแบบ “ชอบมากเลย” คุณโอมร้อง “เวลาเลือกเสียงนี่สะดวกเลย”

แต่ละโปรแกรมทั้งภาค program และ combination ถูกเตรียมมาดีมาก ตัว TRITON Le นั้นมีภาค combi ที่มีศักยภาพของ master keyboard ที่ละเอียดมาก คุณสามารถใช้มันเป็นตัวแม่ไปสั่งการตัวอื่นๆ ในเซ็ทอัพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาค RPPR (Realtime Pattern Play & Recording) นั้นเป็นฟีเจอร์เดียวกับที่มีใน KARMA คุณยังสามารถให้มันเล่นแนวดนตรีและแพทเทิร์นกลองที่คุณเล่นไว้ในภาค pattern sequencer ได้ หรือจะอัดใหม่ขณะที่คุณอยู่ในภาค sequencer ก็ได้ในทันที



    ©Copyright 2005 Beh Ngiep Seng Musical Instruments Ltd.,Part. All reserved.